เปิด 5 วัดจีนแก้ชง 2566 ที่ต้องห้ามพลาดเด็ดขาด !!
เปิด 5 วัดจีนแก้ชง 2566 ที่ต้องห้ามพลาดเด็ดขาด !!
ตรุษจีนผ่านไป ได้เวลาของการแก้ชง ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ เพราะว่าถ้านับตามความเชื่อจีนแล้ว ตรุษจีน คือการขึ้นปีใหม่ของจีน ดังนั้น ช่วงก่อนตรุษจีน จึงยังไม่ถือว่าเข้าปีชง และในทางกลับกัน ปีชงจะเริ่มไปแล้วหลังตรุษจีน ดังนั้น คนเราจึงต้องแก้ชงหลังจากตรุษจีนแทน โดยในบทความนี้ หงษ์ทอง จะมาเปิดสถานที่แก้ชงกัน จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกันเลย
วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ
วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เยาวราช เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ค่ะ โดยวัดมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบ วัดหลวง คือ มี วิหารท้าวจตุโลกบาล เป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า เป็นวัดที่มีศิลปะงดงาม ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ด้วยกัน บางคนเรียกว่า วัดมังกร เพราะคำว่า “เล่ง” หรือ “เล้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด ทำให้มีชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกัมโล่วยี่) กรุงเทพฯ
วัดทิพยวารีวิหาร หรือ วัดกัมโล่วยี่ ตั้งอยู่ในเขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพฯ โดยสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อในปี พ.ศ. 2319 เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย และเป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย พอมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดก็ได้ถูกทิ้งร้างไว้ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น จนมาในปี พ.ศ. 2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้มาจำพรรษาที่ วัดทิพยวารีวิหาร ท่านก็เลยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ และเชิญชวนชาวบ้านในย่านตลาดมิ่งเมืองมาร่วมกัน จนกระทั่งวัดกลับมาสวยงาม ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีพระราชทานสมณศักดิ์ให้ อาจารย์ไหซัน เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และพระราชทานนาม วัดกัมโล่วยี่ ให้ใหม่ว่า วัดทิพยวารีวิหาร ในปี พ.ศ. 2452 นั่นเอง
วัดโพธิ์แมนคุณาราม (วัดโพวมึ้งป่ออึงยี่) กรุงเทพฯ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม หรือ วัดโพวมึ้งป่ออึงยี่ เป็นวัดพุทธฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ที่สืบทอดหลักธรรมคำสอนต่างๆ มาจากนิกายเซน และเป็นศูนย์กลางหลักธรรมคำสอนของนิกายวินัยและนิกายมนตรายาน ของ วัชรยาน ทิเบต นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์จีนนิกายของไทยด้วย โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 ตามหลักฮวงจุ้ย และเป็นลักษณะของรถม้าที่กำลังลากราชรถ โดยประตูทางเข้าวัด จะมีซุ้มประตู 5 ประตู เปรียบเหมือนม้า 5 ตัว ที่กำลังลากราชรถ นั่นก็คือ พระอุโบสถ นี่เองค่ะ ซึ่งภายในจะมี พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นประธาน นั่นเอง
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) จ.นนทบุรี
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือที่เรียกกันว่า วัดเล่งเน่ยยี่ 2 เพราะวัดแห่งนี้เป็นสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่ ที่เยาวราชนั่นเอง ที่นี่โดยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพ.ศ.2539 โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชานุญาตให้สร้างวัด และพระราชทานนามว่า วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ และใช้เวลาในการสร้างกว่า 12 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์เลยทีเดียว การก่อสร้างวัดนั้น ได้ก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบพุทธศิลป์ในราชวงค์หมิงและชิง โดยคล้ายกับ พระราชวังต้องห้าม ที่ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เลยทีเดียว ทำให้มีลวดลาย และความประณีต ละเอียดมาก ๆ โดยทางวัดได้เชิญช่างฝีมือชั้นครูจากประเทศจีน มาดำเนินการก่อสร้างโดยตรงเลย
ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ จ.ชลบุรี
ศาลเจ้านาจา หรือศาลเจ้าหน่าจาซาไท่จื้อ ตั้งอยู่ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ที่หลายคนคงรู้จักกันดีเมื่อได้มาเที่ยวชายหาดบางแสนก็จะแวะมาไหว้ศาลเจ้านาจา ที่อยู่บริเวณแถวตลาดอ่างศิลาไม่ไกลจากชายหาดบางแสนนัก ศาลจ้านาจา อ่างศิลาเดิมเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ ด้วยความเคารพศรัทธาของผู้ที่มากราบไหว้ด้วยเชื่อกันว่าให้โชคทางด้านการค้า ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นศาลเจ้าจีนที่ใหญ่โตสวยงามตระการตา สร้างด้วยศิลปะแบบจีน มีองค์เทพเจ้าปางต่างๆ มากมายให้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนใหญ่ที่มากราบไหว้ มักมาขอเกี่ยวกับการงาน ให้ประสบความสำเร็จ
ศาลเจ้าแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 โดยอาจารย์สมชาย เฉยศิริ เป็นผู้ริเริ่มสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ เดิมทีเป็นเพียงแค่ศาลเจ้าเล็ก ๆ แต่ด้วยบารมีแห่งองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ทำให้ผู้คนที่มากราบไหว้มีความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจการค้ามากมาย จนเมื่อปี พ.ศ. 2539 อาจารย์สมชาย เฉยศิริ ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสร้างเป็น วิหาร 4 ชั้น ขึ้นเพื่อ “เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ” โดยวิหารแห่งนี้ เริ่มสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 แล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2543 มีระยะเวลาการก่อสร้างกว่า 4 ปี ใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 300 ล้านบาท สร้างบนเนื้อที่ 4 ไร่ และยังมีเนื้อที่อยู่รอบศาลเจ้าอีกกว่า 8 ไร่ มีทั้งหมด 4 ชั้น สามารถถ่ายภาพในบริเวณด้านนอกได้ แต่ด้านในศาลห้ามถ่ายภาพ ด้านบนชั้นสี่จะสามารถมองเห็นวิวทะเลที่สวยงามได้อีกด้วย